เซอร์กิตเบรกเกอร์ (CIRCUIT BREAKER) มีกี่ประเภท เลือกใช้งานอย่างไร
เซอร์กิตเบรกเกอร์ (Circuit Breaker) หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่าเบรกเกอร์ เป็นอุปกรณ์ที่เปรียบเสมือนปราการแรกที่ช่วยป้องกันอันตรายจากไฟฟ้าลัดวงจร ภัยอันดับหนึ่งที่นำไปสู่ความสูญเสียทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สิน เซอร์กิตเบรกเกอร์จะทำหน้าที่ตัดกระแสไฟฟ้าอัตโนมัติเมื่อตรวจพบความผิดปกติในวงจรไฟฟ้า ซึ่งมักเกิดจากการโหลดเกินหรือไฟฟ้าลัดวงจร สังเกตได้จากด้ามจับคันโยกที่จะเลื่อนมาที่ตำแหน่ง Trip (อยู่กึ่งกลางระหว่าง ON และ OFF) เมื่อทำการแก้ไขเรียบร้อยก็จะสามารถโยกเลื่อนกลับไปต่อใช้งานได้เช่นเดิมโดยที่ตัวเบรกเกอร์เองไม่ได้รับความเสียหาย
เซอร์กิตเบรกเกอร์ต่างจากคัทเอาท์อย่างไร
ทุกวันนี้เราจะเห็นว่าเซอร์กิตเบรกเกอร์ถูกนำมาใช้แทนที่คัทเอาท์ (หรือสะพานไฟ) ที่ตัดไฟฟ้าด้วยมือโดยการใช้คันโยก ความยุ่งยากของคัทเอาท์คือเมื่อเกิดไฟฟ้าลัดวงจรหรือไฟช็อต เส้นตะกั่วที่เป็นตัวควบคุมจะละลายและขาดออกทำให้ต้องเปลี่ยนทั้งเส้นตะกั่วและกระบอกฟิวส์ก่อนที่จะใช้งานได้อีกครั้ง ดังนั้นบ้านใครยังใช้คัทเอาท์อยู่ก็แนะนำให้เปลี่ยนมาใช้เซอร์กิตเบรกเกอร์ซึ่งสะดวกกว่ามาก เนื่องจากสามารถตัดวงจรไฟฟ้าแบบอัตโนมัติเมื่อเกิดความผิดปกติในระบบไฟฟ้าและสามารถปิดหรือต่อวงจรได้ทันทีหลังจากแก้ปัญหาความผิดปกติในระบบได้แล้ว ไม่ต้องทำการเปลี่ยนอุปกรณ์ใหม่เหมือนกับคัทเอาท์
เซอร์กิตเบรกเกอร์ มีกี่ขนาด
เซอร์กิตเบรกเกอร์มีหลายแบบ ทั้งขนาดเล็กที่ใช้สำหรับวงจรที่มีกระแสไฟฟ้าต่ำหรือพวกเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน จนถึงสวิตช์ขนาดใหญ่สำหรับวงจรไฟฟ้าแรงสูงที่จ่ายไฟให้ตัวเมือง ถ้าแบ่งตามพิกัดแรงดันจะแบ่งได้ 3 กลุ่ม คือ
- เซอร์กิตเบรกเกอร์แรงดันไฟฟ้าต่ำ (Low Voltage)
- เซอร์กิตเบรกเกอร์แรงดันไฟฟ้าปานกลาง (Medium Voltage)
- เซอร์กิตเบรกเกอร์แรงดันไฟฟ้าสูง (High Voltage)
บทความนี้เราจะพูดถึงกลุ่ม Low Voltage ซึ่งเป็นแบบที่นิยมใช้กันทั่วไปในบ้านพักอาศัยหรือในเชิงพาณิชย์อุสาหกรรม
เซอร์กิตเบรกเกอร์แรงดันไฟฟ้าต่ำ (Low Voltage Circuit Breakers)
เป็นเบรกเกอร์ที่มีแรงดันน้อยกว่า 1,000 V AC นิยมติดตั้งในตู้คอนซูมเมอร์ยูนิต ตู้ DB หรือตู้โหลดเซ็นเตอร์และมักจะติดตั้งในตู้ที่เปิดออกได้ เพื่อถอดและเปลี่ยนได้โดยไม่ต้องถอดสวิตช์ออก ทั่วไปจะแบ่งออกเป็น 4 ประเภทหลัก ๆ คือ MCB, RCD, MCCB และ ACB แต่ละประเภทจะแตกต่างกันทั้งในด้านการออกแบบ ขนาด รูปร่าง เพื่อให้เข้ากับลักษณะการใช้งานที่หลากหลาย
1. MCB (Miniature Circuit Breakers) หรือที่เรียกกันว่าเบรกเกอร์ลูกย่อยหรือลูกสกิต เป็นเบรกเกอร์ขนาดเล็ก สำหรับใช้ในบ้านพักอาศัยหรืออาคารที่มีการใช้ไฟฟ้าไม่เกิน100A มีทั้งขนาด 1, 2, 3 และ 4 Pole ใช้ได้กับระบบกระแสไฟฟ้าทั้งแบบ 1 เฟสและ 3 เฟส
การติดตั้ง
มี 2 แบบที่นิยมคือPlug-on ที่สามารถติดตั้งได้ง่ายเพียงดันตัวเบรคเกอร์เข้ากรอบที่เตรียมไว้ และแบบ Din-rail ที่ต้องใช้เครื่องมือช่างในการประกอบ ใช้ติดตั้งเป็นอุปกรณ์ป้องกันร่วมกับแผงจ่ายไฟฟ้าย่อย (Load center) หรือแผงจ่ายไฟฟ้าในห้องพักอาศัย (Consumer unit)
2. RCDs (Residual Current Devices) เป็นอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับตัด/ป้องกันกันไฟรั่วไฟดูดอัตโนมัติตามพิกัดที่กำหนดไว้ ก่อนติดตั้งเครื่องต้องตรวจสอบให้แน่ใจก่อนว่าได้เดินสายดินหรือสายกราวด์เรียบร้อยแล้ว
RCD มีอุปกรณ์อยู่หลัก ๆ 2 ตัวคือ
- RCCB (Residual Current Circuit Breaker) ทำหน้าที่ป้องกันไฟรั่ว ไฟดูด แต่ไม่สามารถตัดกระแสลัดวงจรได้ จะใช้คู่กับ MCB, MCCB
- RCBO (Residual Current Circuit Breaker with Overcurrent Protection) จะตัดวงจรเมื่อเกิดไฟรั่ว ไฟดูด รวมถึงป้องกันกระแสเกินและกระแสลัดวงจรด้วย เปรียบเสมือนการนำเมนเบรกเกอร์ กับ RCCB มารวมเข้าด้วยกัน
3. MCCB (Molded Case Circuit Breakers) คือเบรกเกอร์ที่ใช้เป็นสวิตช์เปิด-ปิดวงจรไฟฟ้า รวมถึงตัดกระแสไฟฟ้าเมื่อมีไฟรั่วหรือลัดวงจร ใช้กับกระแสไฟตั้งแต่ 100-2,300A แรงดันไม่เกิน1,000โวลต์ นิยมติดตั้งในตู้ไฟฟ้า (Local panel) สำหรับอาคารขนาดใหญ่หรือโรงงานอุตสาหกรรม เนื่องจากสามารถทนกระแสลัดวงจรหรือค่า kA
4. ACB (Air Circuit Breakers) เป็นเบรกเกอร์ขนาดใหญ่ที่สุดในกลุ่ม Low Voltage ทนกระแสไฟฟ้าได้สูงสุดถึง6,300A นิยมใช้งานเป็นเมนเบรกเกอร์ในโรงงานกับงานแรงดันสูง (HVAC) ติดตั้งในตู้ MDB ต้องการการดูแลอย่างต่อเนื่อง สามารถเพิ่มอุปกรณ์เสริมต่าง ๆ ได้ตามความต้องการ ต่างจาก MMCB ที่เพิ่มอุปกรณ์ไม่ได้
วิธีเลือกเซอร์กิตเบรกเกอร์ (Circuit Breaker)
ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่าระบบไฟฟ้าในประเทศไทยจะเป็นแบบ 1 เฟส (สำหรับที่พักอาศัย) และ 3 เฟส (สำหรับโรงงานหรืออาคารพาณิชย์) การเลือกเซอร์กิตเบรกเกอร์ให้เหมาะสมกับงานที่ใช้จึงต้องดูที่ (1) จำนวน Pole ที่จะเป็นตัวบ่งบอกว่าเบรกเกอร์ที่ใช้นั้นเป็นชนิด 1 เฟส หรือ 3 เฟส และ (2) ค่าพิกัดกระแสซึ่งจะบ่งบอกถึงค่าจำกัดในการใช้งานของเซอร์กิตเบรกเกอร์
- จำนวน Pole แบ่งออกเป็น 4 ชนิดดังนี้
- 4 Pole – เซอร์กิตเบรกเกอร์สำหรับระบบ 3 เฟส ป้องกันสาย line และสาย neutral เหมาะสำหรับระบบที่ต้องการความปลอดภัยสูง เพราะสามารถป้องกันได้ทั้ง 4 เส้นหากระบบไฟฟ้าเกิดความผิดปกติ
- 3 Pole – เซอร์กิตเบรกเกอร์สำหรับระบบ 3 เฟส ป้องกันสาย line อย่างเดียว นิยมใช้ในอาคารพาณิชย์และโรงงานอุตสาหกรรม
- 2 Pole – เซอร์กิตเบรกเกอร์สำหรับระบบ 1 เฟส ป้องกันสาย line และสาย neutral มักใช้เป็นเมนเบรกเกอร์ในตู้คอนซูมเมอร์ยูนิต มีทั้งแบบ MCB และ MCCB
- 1 Pole – เซอร์กิตเบรกเกอร์สำหรับระบบ 1 เฟส ป้องกันสาย line อย่างเดียว ส่วนใหญ่จะเป็นเบรกเกอร์ลูกย่อยที่ใช้ร่วมกับตู้คอนซูมเมอร์ยูนิต มักใช้ในบ้านพักอาศัย
- ค่าพิกัดกระแสที่ควรทราบมีดังนี้
- Interrupting Capacitive (IC) – พิกัดการทนกระแสลัดวงจรสูงสุดโดยปลอดภัยของเบรกเกอร์นั้น ๆ มักแสดงในหน่วย kA (กิโลแอมแปร์)
- Amp Trip (AT) – หรือที่เรียกว่า แอมป์ทริป คือค่ากระแสที่เบรกเกอร์เริ่มทำงาน เป็นตัวบอกให้รู้ว่าเบรกเกอร์ตัวนั้นสามารถทนต่อกระแสในภาวะปกติได้สูงสุดเท่าใด เช่น เบรกเกอร์ที่มีค่าแอมป์ทริป 100A เมื่อกระแส 0-100A ไหลผ่าน เบรกเกอร์จะไม่ทริป แต่หากมีกระแส 130A คงที่ไหลผ่าน เบรกเกอร์จะทริปภายในเวลา 2 ชั่วโมง
- Amp Frame (AF) – พิกัดกระแสโครง หมายถึงพิกัดการทนกระแสสูงสุดของเบรกเกอร์นั้น ๆ เซอร์กิตเบรกเกอร์ที่มีขนาด AF เดียวกันจะมีขนาดมิติ (กว้างXยาวXสูง) เท่ากัน สามารถเปลี่ยนพิกัด Amp Trip ได้โดยที่ขนาด (มิติ) ของเบรกเกอร์ยังคงเท่าเดิม
หากคุณมีข้อสงสัยหรือต้องการคำแนะนำเกี่ยวกับการเลือกซื้อเซอร์กิตเบรกเกอร์ บี.กริม เทรดดิ้ง เรามีทีมงานมืออาชีพที่คอยให้คำปรึกษา เราเป็นตัวแทนจำหน่ายอุปกรณ์ไฟฟ้าจากซีเมนส์ มั่นใจได้ถึงความปลอดภัย ทนทาน ประหยัดพลังงาน รวมถึงบริการทั้งก่อนและหลังการขายอย่างครบวงจรโดยพนักงานมืออาชีพ ติดต่อเราได้เลย ที่นี่
สอบถามข้อมูลสินค้าเพิ่มเติมได้ที่
https://bgrimmtechnologies.com/contact-us/
อีเมล: [email protected]
เบอร์โทรศัพท์ : +66 (0) 2710 3000
Line Official Account : https://lin.ee/ItAW7DS @bgrimmtrading