วิธีตรวจเช็ค อุปกรณ์ไฟฟ้าในบ้าน เมื่อผ่านอายุการใช้งานมานาน

การตรวจรักษาระบบไฟฟ้าในบ้าน อาจจะฟังดูยากสำหรับใครหลายๆคน แต่หัวขี้อนี้เราจะมาอธิบายพื้นฐานเกี่ยวกับระบบไฟฟ้าที่คนทั่วไปสามารถตรวจสอบเองได้ เมื่อเจอปัญหาเล็กๆสามารถตรวจดูพื้นฐานได้เองค่ะ ระบบไฟฟ้าถือว่าเป็นเรื่องสำคัญอีกหนึ่งอย่าง เนื่องจากหลายครอบครัวมีทั้งเด็กและผู้ใหญ่ เพื่อเป็นการป้องกันสิ่งที่ไม่คาดคิดให้กับคนที่คุณรัก

มิเตอร์ไฟฟ้า

วิธีการตรวจสอบคือต้องปิดสวิตซ์ไฟภายในบ้านทุกจุด ถอดปลั๊กอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าออกให้หมด และดูที่มิเตอร์หน้าบ้านว่าเฟืองเหล็กหมุนอยู่หรือไม่ เพราะหากยังหมุนอยู่แสดงว่ามีกระแสไฟรั่ว ให้ลองตรวจสอบอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าชนิดอื่น ๆ เช่น เครื่องตัดไฟรั่วว่ายังทำงานดีอยู่หรือไม่ ด้วยการกดปุ่มทดสอบ ซึ่งถ้ายังใช้งานได้ดี สวิตช์หรือคันโยกจะตกลงมาทันที เพื่อตัดกระแสไฟฟ้า แต่ถ้าเครื่องตัดไฟรั่วไม่ทำงาน ก็ต้องเรียกช่างมาแก้ไข

ตรวจสอบเมนสวิตช์

คัตเอ๊าต์และเบรกเกอร์ยังสามารถใช้ปลดวงจรไฟฟ้าได้หรือไม่ หากมีอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าเสียก็ควรเปลี่ยนใหม่ให้เรียบร้อย

สวิตช์ตัดตอนชนิดคัดเอาท์

  • ตัวคัทเอาท์และฝาครอบต้องไม่แตก
  • ใส่ฟิวส์ให้ถูกขนาดและมีฝาครอบปิดให้มิดชิด
  • ห้ามใช้วัสดุอื่นใส่แทนฟิวส์
  • ขั้วต่อสายที่คัทเอาท์ต้องแน่นและใช้ขนาดสายให้ถูกต้อง
  • ใบมีดของตัทเอาท์เมื่อสับใช้งานต้องแน่น

เบรกเกอร์

  • ตรวจสอบฝาครอบเบรคเกอร์ต้องไม่แตกร้าว
  • ต้องมีฝาครอบปิดเบรคเกอร์ให้มิดชิด
  • ต้องติดตั้งในที่แห้งไม่เปียกชื้นและห่างไกลจากสารเคมีสารไวไฟต่าง ๆ
  • เลือกเบรคเกอร์ที่มีขนาดเหมาะสมกับอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า

ตรวจสอบสายไฟว่ามีส่วนที่ชำรุดหรือไม่

สายไฟหากไม่ได้ใส่ใจตรวจสอบให้ดี ก็สามารถเปื่อยและพังได้ วิธีตรวจสอบสายไฟ

  • สังเกตจากฉนวนจะแตกและแห้งกรอบ ซึ่งฉนวนสายไฟที่ชำรุดอาจจะเกิดจากการถูกหนูหรือแมลงสาบกัดแทะหรือสายไฟใกล้แหล่งความร้อน
  • จุดต่อสายไฟต้องให้แน่น หน้าสัมผัสให้ดี พันฉนวนให้เรียบร้อยขนาดของสายไฟฟ้า ใช้ขนาดของสายให้เหมาะสมกับปริมาณกระแสที่ไหลในสาย หรือให้เหมาะสมกับเครื่องใช้ไฟฟ้าในวงจรนั้น
  • สายไฟฟ้าต้องไม่เดินอยู่ใกล้แหล่งความร้อน สารเคมี หรือถูกของหนักทับ เพราะทำให้ฉนวนชำรุดได้ง่าย และเกิดกระแสไฟฟ้าลัดวงจรขึ้นได้
  • สายไฟฟ้าต้องไม่พาดบนโครงเหล็ก รั้วเหล็ก ราวเหล็ก หรือส่วนที่เป็นโลหะต้องเดินสายไฟฟ้าโดยใช้พุกประกับ หรือร้อยท่อให้เรียบร้อย เพื่อป้องกันกระแสไฟฟ้ารั่วลงบนโครงโลหะ ซึ่งจะเกิดอันตรายขึ้นได้

ตรวจสอบปลั๊กไฟให้เรียบร้อย

จะต้องตรวจสอบปลั๊กไฟว่ามีรอยไหม หลวม และมีรอยแตกร้าวหรือไม่ ถ้าเจอว่าเต้ารับหลวมก็ขันสกรูให้แน่นดังเดิม แต่ถ้ามีรอยแตกให้เปลี่ยนใหม่ทันที และควรตรวจสอบเต้ารับทุกจุดว่ามีไฟหรือไม่ โดยการใช้ไขควงวัดไฟ หรือจะใช้หลอดทดสอบวัดดูเอาก็ได้ ถ้าหลอดไฟสว่างขึ้นแสดงว่าเต้ารับยังใช้งานได้

เต้ารับ-เต้าเสียบ

  • เต้ารับ เต้าเสียบ ต้องไม่แตกร้าว และไม่มีรอยไหม้
  • การต่อสายที่เต้ารับและเต้าเสียบ ต้องให้แน่น และใช้ขนาดสายให้ถูกต้อง
  • เต้าเสียบ เมื่อเสียบใช้งานกับเต้ารับต้องแน่น
  • เต้ารับ ต้องติดตั้งในที่แห้ง ไม่เปียกชื้นหรือมีน้ำท่วม และควรติดให้พ้นมือเด็กเล็กที่อาจเล่นถึงได้

แผงสวิตช์ไฟฟ้า

  • ต้องติดตั้งในที่แห้งไม่เปียกชื้นและสูงพอควร ห่างไกลจากสารเคมีและสารไวไฟต่าง ๆ
  • ตรวจสอบดูว่ามี มด แมลงเข้าไปทำรังอยู่หรือไม่ หากพบว่ามี ให้ดำเนินการกำจัด
  • อย่าวางสิ่งกีดขวางบริเวณแผงสวิตช์
  • ควรมีผังวงจรไฟฟ้าโดยสังเขปติดอยู่ที่แผงสวิตช์ เพื่อให้ทราบว่าแต่ละวงจรจ่ายไฟไปที่ใด
  • แผงสวิตช์ที่เป็นตู้โลหะควรทำการต่อสายลงดิน

ตรวจสอบอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชนิด

ควรตรวจสอบอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชนิดที่มีการจับต้องขณะใช้งาน อย่างเช่น เครื่องซักผ้า โดยดูว่าเกิดกระแสไฟรั่วขึ้นหรือไม่ ด้วยการใช้ไขควงวัดไฟและแตะลงไปที่ตัวอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า ถ้าหากหลอดติดแสดงว่าเกิดไฟรั่วขึ้น ซึ่งสามารถแก้ไขได้โดยการใช้สายไฟยึดกับส่วนที่เป็นโลหะของตัวเครื่อง จากนั้นนำไปยึดกับตะปูที่ตอกติดอยู่กับพื้น เพื่อนำกระแสไฟที่รั่วให้ไหลลงสู่ดิน เพื่อไม่ให้ผู้ใช้งานเกิดอันตราย